ชื่อผลงาน : รายงานการประเมินโครงการ การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนบ้านโคกม้า ปีการศึกษา 2563
ผู้รายงาน : นายนิพิฐพนธ์ ทัพพ์ชัยศิริ
หน่วยงาน : โรงเรียนบ้านโคกม้า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 3
ปีที่ประเมิน : 2563
บทสรุป
การประเมินโครงการ การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนบ้านโคกม้า
ปีการศึกษา 2563 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบทของโครงการ ประเมินปัจจัยนำเข้า ประเมินกระบวนการ และประเมินผลผลิต ได้แก่ การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ประสิทธิภาพของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนปีการศึกษา 2562-2563 และความพึงพอใจที่มีต่อโครงการ
ประชากร ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน นักเรียน จำนวน 36 คน ครู จำนวน 11 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 9 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน จำนวน 6 ฉบับ ประกอบด้วย แบบสอบถาม 5 ฉบับและแบบบันทึก 1 ฉบับ
เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม 6 ฉบับ มีการวิเคราะห์ข้อมูลได้ใช้การหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติที่ใช้หาคุณภาพเครื่องมือ ได้แก่ ค่าดัชนีความสอดคล้อง IOC เพื่อหาความตรงเชิงเนื้อหาของแบบสอบถาม อยู่ระหว่าง 0.80 – 1.00 และค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาหาความเที่ยงของแบบสอบถาม ซึ่งมีผลการประเมินและข้อเสนอแนะสรุปได้ ดังนี้
ผลการประเมิน
ผลการประเมิน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็นและภาพรวมของโครงการ ดังนี้
- ผลการประเมินด้านบริบท พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับ มากที่สุด
- ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับ มากที่สุด
- ผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับ มากที่สุด
- ผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน ทุกตัวชี้วัด
4.1 การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 : ด้านกายภาพ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับ มากที่สุด และด้านจิตวิทยา พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับ มากที่สุด
4.2 การประเมินประสิทธิภาพของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ปีการศึกษา 2562 –2563 มีค่าพัฒนาเพิ่มขึ้น 3.80 ในปีการศึกษา 2563 ด้วยค่าเฉลี่ยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 อยู่ในเกณฑ์ ปานกลาง
4.3 ระดับการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อโครงการของนักเรียน ครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับ มากที่สุด
- ผลการประเมินโครงการ การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนบ้านโคกม้า ปีการศึกษา 2563 โดยภาพรวม พบว่า ผลการประเมินโครงการผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็นและทุกตัวชี้วัด
ข้อเสนอแนะ
รายงานการประเมินโครงการ การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนบ้านโคกม้า ปีการศึกษา 2563 ต้องอาศัยความร่วมมือในการส่งเสริมพัฒนาจากทุกฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน ชุมชนและองค์กรท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 จากรายงานผลการประเมินโครงการ การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPP MODEL ปีการศึกษา 2563 จะเห็นได้ว่า ควรดำเนินงานโครงการนี้ต่อไป ทั้งนี้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรนำผลการประเมินไปปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้
1. จากผลการประเมินประเด็นบริบทของโครงการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุด ทั้ง 4 ตัวชี้วัด แต่เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ความเป็นไปได้ของโครงการ อยู่ในระดับ มากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ผู้บริหารจึงควรชี้แจงทำความเข้าใจกับครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้เห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือเพื่อส่งเสริมและพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพ ต้องกำกับ ติดตามการดำเนินงานโครงการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้บริบทของโครงการเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการการดำเนินโครงการ การกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นและความเป็นไปได้ของโครงการจะเป็นเข็มทิศชี้นำการปฏิบัติไปสู่ความสำเร็จ จึงควรมีการพิจารณาถึงความต้องการจำเป็นของสภาพแวดล้อม คือ ความต้องการของนักเรียน ครู และกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา หน่วยงานต้นสังกัดและสภาพปัญหาของนักเรียนอันเป็นการตอบสนองนักเรียนอย่างแท้จริง
- จากผลการประเมินประเด็นปัจจัยนำเข้าโครงการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุด ทั้ง 5 ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ความเหมาะสมของ บุคลากรที่รับผิดชอบ มีความรู้ ความสามารถ และมีความพร้อมในการปฏิบัติงาน อยู่ในระดับ มากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ผู้บริหารจึงควรสร้างความตระหนักและเลือกบุคลากรที่มีความเหมาะสม รับผิดชอบ มีความรู้ ความสามารถ และมีความพร้อมในการปฏิบัติงาน ควรจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพแลเกิดะประสิทธิผลสูงสุด
- จากผลการประเมินประเด็นกระบวนการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุด ทั้ง 4 ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณา พบว่า การวางแผนการดำเนินงานควรวางแผนโดยมีเป้าหมายการปฏิบัติและชี้แจงอย่างชัดเจน สามารถดำเนินการและปฏิบัติได้ทันที ควรติดตามและประเมินผลในการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การดำเนินโครงการบรรลุวัตถุประสงค์
- จากผลการประเมินประเด็นผลผลิต พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับ ปานกลางของการประเมินผลสัมฤทธิ์ และมากที่สุด ของการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และการประเมินความพึงพอใจ ทั้งนี้ ผู้บริหารควรหาข้อมูลหรือทำวิจัยเชิงคุณภาพเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อเป็นแนวทางในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่อไป
- จากผลการประเมินความพึงพอใจ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกคำถาม นักเรียน ครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความพึงพอใจต่อโครงการในระดับสูงจึงควรจัดกิจกรรมตามโครงการอย่างต่อเนื่องและปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้เหมาะกับความต้องการและสภาพบริบทของนักเรียน เพื่อสร้างความพึงพอใจให้มากยิ่งขึ้นไป
ข้อเสนอแนะในการประเมินครั้งต่อไป
- ควรทำการวิจัยหรือประเมินเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการดำเนินโครงการการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 3
- ควรมีการศึกษาวิจัยรูปแบบที่เหมาะสมต่อการดำเนินการโครงการ การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ตามขนาดโรงเรียน โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPP MODEL เพื่อให้ได้ข้อมูลสารสนเทศในแง่มุมอื่นที่ใช้พัฒนาโครงการให้มีประสิทธิภาพต่อไป
- ควรประเมินเชิงสาเหตุเพื่อจะได้ทราบถึงสาเหตุที่มีอิทธิพลต่อโครงการเพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงพัฒนาโครงการได้ตรงตามสาเหตุและปัญหาของการประเมินต่อไป