บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ
เรื่อง การแปรรูปอาหารจากกล้วยหอมทอง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ชื่อผู้วิจัย วราภรณ์ สุขประวิทย์
ปีการศึกษา 2563
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างและพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ
เรื่อง การแปรรูปอาหารจากกล้วยหอมทอง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 2) ทดลองใช้หลักสูตรท้องถิ่นกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ เรื่อง การแปรรูปอาหารจากกล้วยหอมทอง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1ในโรงเรียนชุมชนบ้านถ้ำสิงห์ และโรงเรียนในสถานศึกษาเครือข่ายเมือง 5 3) ศึกษาผลการใช้หลักสูตรท้องถิ่นกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ เรื่อง การแปรรูปอาหารจากกล้วยหอมทอง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1ในโรงเรียนชุมชนบ้านถ้ำสิงห์ และโรงเรียนในสถานศึกษาเครือข่ายเมือง 5 โดยศึกษาและเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน ศึกษาทักษะการปฏิบัติงาน และศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตรท้องถิ่นกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ เรื่อง การแปรรูปอาหารจาก
กล้วยหอมทอง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนชุมชนบ้านถ้ำสิงห์และโรงเรียนในสถานศึกษาเครือข่ายเมือง 5 ที่ได้มาโดยวิธีสุ่มแบบเจาะจง มีวิธีการดำเนินการวิจัย 6 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน โดยศึกษาจากเอกสารและใช้แบบสอบถามข้อมูลพื้นฐานและความต้องการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น นำผลการศึกษามาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาโครงร่างหลักสูตรท้องถิ่น ขั้นที่ 2 การพัฒนาโครงร่างหลักสูตร โดยสร้างโครงร่างหลักสูตรท้องถิ่นและเอกสารประกอบหลักสูตร ได้แก่แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและแบบวัดความพึงพอใจหลังเรียน ด้วยหลักสูตรท้องถิ่น ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความเหมาะสมและความสอดคล้องของแต่ละองค์ประกอบ นำผลมาปรับปรุงแก้ไข
หลักสูตรก่อนนำไปทดลองใช้ ขั้นที่ 3 การทดลองใช้หลักสูตรระยะที่ 1 ได้นำหลักสูตรที่ผ่านการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญและปรับปรุงเรียบร้อยแล้วไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง เพื่อเก็บข้อมูลประสิทธิภาพของหลักสูตร โดยใช้การทดลองแบบกลุ่มเดียวทดสอบก่อนและหลังใช้หลักสูตร ขั้นที่ 4 การประเมินผลและปรับปรุงหลักสูตร โดยการประเมินประสิทธิภาพของหลักสูตรท้องถิ่นหลังจากนำไปทดลองใช้ในระยะที่ 1 และนำข้อมูลมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ได้หลักสูตรท้องถิ่นที่มีความสมบูรณ์และเหมาะสมยิ่งขึ้น ขั้นที่ 5 การทดลองใช้หลักสูตรระยะที่ 2 ได้นำหลักสูตรไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง โดยมีการทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ก่อนและหลังใช้หลักสูตร วัดความพึงพอใจของนักเรียนหลังเรียนด้วยหลักสูตรท้องถิ่น และประเมินทักษะปฏิบัติเกี่ยวกับการแปรรูปอาหารจากกล้วยหอมทอง ขั้นที่ 6 การประกาศใช้และเผยแพร่หลักสูตร เป็นการประกาศใช้หลักสูตรที่มีความสมบูรณ์ เหมาะสมแล้ว และเผยแพร่หลักสูตรท้องถิ่น ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ได้หลักสูตรท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ เรื่อง การแปรรูปอาหารจากกล้วยหอมทอง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีความเหมาะสมโดยรวม อยู่ในระดับมากที่สุด องค์ประกอบในโครงร่าง หลักสูตร มีความสอดคล้องกันทุกประเด็น สามารถนำไปใช้จัดการเรียนรู้ได้
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังการทดลองใช้หลักสูตรสูงกว่าก่อนการทดลองใช้หลักสูตรอย่างมี นัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนตามหลักสูตรท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้การงาน อาชีพ เรื่อง การแปรรูปอาหารจากกล้วยหอมทอง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยรวมอยู่ในระดับมาก ที่สุด
4. หลังการทดลองใช้หลักสูตรท้องถิ่นนักเรียนทุกคนมีทักษะการแปรรูปอาหารจากกล้วยหอมทองผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ลิงก์นี่ https://drive.google.com/file/d/1fV_sSjFd3YeoTC8QGn5_O9PfHWnAhM2_/view?usp=sharing